วันพุธที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

อาลัย...พ.ต.อ. อัยยรัช กมลรัตนา

ขอแสดงความเสียใจ ด้วยความอาลัยยิ่ง ในการจากไปของท่านผู้กำกับ พ.ต.อ. อัยยรัช กมลรัตนา ด้วยผลบุญที่ท่านได้กระทำดีไว้ ขอผลบุญนำท่านไปสู่สุขคติ



วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เก็บตก... กับพระขุนแผนผงพรายกุมาร หลวงปู่ทิม ระยอง

26-May-2017
ควบม้า...ชมเมือง***วันนี้ เผอิญได้ไปอ่าน บทความเกี่ยวกับ....พระขุนแผนผงพรายกุมาร หลวงปู่ทิม ระยอง ที่เขียนโดย หนุ่มเมืองแกลง เมื่อพิจารณาดูแล้ว...ผู้เรียบเรียงเห็นว่าเป็นบทความที่ดีมีประโยชน์ ในการพิจารณาพระเครื่องขุนแผนหลวงปู่ทิม จ.ระยอง...อีกด้านหนึ่งที่พึงพิจารณา..จึงได้นำบทความมารีวิว..เพื่อการศึกษาพระเครื่อง พระขุนแผนผงพรายกุมาร หลวงปู่ทิม ระยอง..อีกหนึ่งแง่มุม ..อีกทั้งท่านหนุ่มเมืองแกลงยังได้อุตส่าห์อธิบายเชิงวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับปฎิกิริยาของพระที่มีส่วนผสมของเนื้อปูน และอีกหลายแง่มุมครับ
ดูคอลัมน์ * ควบม้า..ชมเมือง *


1.            ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีการคืนพระขุนแผนผงพรายกุมารกันไม่น้อยกว่า20 ราย หลายองค์เป็นพระที่ราคาหลักล้านบาทขึ้นไป เพราะคนที่เอาไปแล้วก็มีวิธีการตรวจสอบทั้งทางเทคโนโลยี่และจากข้อมูลด้านอื่นๆที่ยังพอสืบค้นได้เอง เมื่อเขาสอบถามผู้ที่อ้างว่าสันทัดพระขุนแผนพรายกุมารหรือเป็นศิษย์เอกหลวงปู่ทิม ก็ไม่สามารถให้เหตุผลที่ถูกต้องได้ชัดเจนดีพอ พระขุนแผนพรายกุมารปี17 ที่เคยจำหน่ายไปองค์ละ3 – 4 ล้านบาท จึงมีจำนวนหลายองค์ที่ถูกคืนกลับผู้ให้เช่า หากใครเล่นเฟสบุคในโซเชี่ยลบ่อยๆ คงมีคนจำกรณีนักธุรกิจหนุ่มหล่อโปรไฟล์เยี่ยมที่ชื่อ ข......ที่ขอคืนพระขุนแผนองค์ละกว่า3ล้านบาทได้ดี และขอคืนมากกว่า1 องค์ ถัดต่อมาก็เป็นรายการคืนพระองค์ดารา ที่องค์ละ3ล้านบาทถ้วนของนักสะสมรายอื่น ส่วนองค์ละหลักหลายแสนบาทมีอีกหลายราย เพราะเดี๋ยวนี้ข้อมูลต่างๆไปเร็วและไปไกล หากใครที่สนใจติดตามเรื่องราวตลอดมาก็น่าจะรู้ได้ แต่ที่ยังเงียบในหน้าหนังสือพิมพ์เพราะอะไรคงน่าจะรู้กันดี การสมประโยชน์ของกลุ่มร้านค้าต่างๆ (ซึ่งแทบทั้งสิ้นจะเป็นของเซียนพระ) มักเป็นหัวข้อหลักในการพูดคุยเสมอ

2.            พระขุนแผนและพระผงแบบต่างๆของหลวงปู่ทิม ระยอง มีทำไว้ใช้กันในหมู่คนที่เคารพนับถือท่านมาก่อนหน้านานแล้ว มีสร้างไว้นับตั้งแต่ต้นปี2509เป็นต้นมา โดยทำกันในวัดเรื่อยมาหลังจากสร้างเหรียญรุ่นแรกปี2508 ไม่ได้ขาดช่วงหรือเว้นนานนับเกือบสิบปีแต่อย่างใด แม้แต่ก่อนการสร้างเหรียญรุ่นแรกก็ได้มีการทำเครื่องรางรูปแบบต่างๆไปมากแล้ว และมีสร้างไว้หลายยุคสมัยและหลายรูปแบบ แต่ทั้งหมดที่เป็นพระเนื้อผงจะเป็นการกดพิมพ์ด้วยแรงกดจากมือคนทั้งสิ้น เมื่อทำเสร็จแล้วมักจะแจกไปบูชากันฟรี มีบางรุ่นเท่านั้นที่นำมาใส่ตู้ของวัดเพื่อจำหน่ายให้คนไกลๆที่มากราบท่านได้บูชากลับบ้าน แต่คนที่ทำหนังสือเผยแพร่เกียรติคุณของท่านกลับไม่ได้สนใจค้นคว้าและทำต้นทางให้ถูกต้องแต่แรก เมื่อมีการคัดลอกในทอดต่อๆมา ก็เลยกลายเป็นแม่ปูและลูกปูที่เดินไม่ตรงทางตามกัน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วหลวงปู่ทิมเป็นที่เคารพนับถือของทหารเรือสัตหีบมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 มาแล้ว ตั้งแต่สมัยยุคทหารจีไอครองอู่ตะเภา พอเข้าปี 2510-11 ทหารช่างของกรมโรงงานฐานทัพเรือสัตหีบก็เข้ามาช่วยงานต่างๆของวัดบ้างแล้ว ยิ่งช่วงที่วัดละหารไร่ต้องการหาทุนมาสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ก็มีหลายๆฝ่ายเข้าไปช่วยงานวัดมากขึ้นทั้งจากระยอง สัตหีบและชลบุรี โดยตั้งแต่ปี2511 เป็นต้นมา การเดินทางไปวัดละหารไร่ก็ไม่ได้กันดารยากลำบากอะไรมากนัก มีถนนลาดยาง มีรถเมลล์ บขส.วิ่งแล้ว ยังได้พูดคุยกับคนบ้านค่ายที่เคยนั่งรถเมลล์สายบ้านค่าย-ระยอง เพื่อเข้าไปเรียนอัสสัมชัญระยอง แบบไปกลับทุกวันนับตั้งแต่ปี2512 เป็นต้นมา ไม่ได้เป็นป่าทึบรกร้างมีเสือชุม เดินทางยากลำบากเป็นวันเป็นคืนอย่างเข้าใจกัน แต่ยุงชุมนั้นคงจะใช่

3.            การแกะแม่พิมพ์พระเนื้อผงนั้น หากเป็นช่างอาชีพที่ทำงานด้านนี้ ต้องมีความรู้ความสามารถจากจิตวิญญาณหรือที่เรียกว่างานศิลปและเชิงช่าง งานที่ออกมาจะดูอ่อนช้อย เรียบร้อยสวยงามและคดโค้งพริ้วไหวตามธรรมชาติ ไม่หยาบ ไม่แข็งทื่อกระด้าง แต่ความคดโค้ง หักงอหรือลึกตื้นก็ไม่จำเป็นต้องเท่ากันทุกจุด และในยุค40-50ปีก่อนนั้นเมืองไทยจะยังไม่มีคอมพิวเตอร์ในการออกแบบลายเส้น เป็นการร่างแบบจากสายตาและเชิงช่างของคน พร้อมนำมาแกะเซาะเนื้อโลหะด้วยมือคนจากสายตาคน สมัยนั้นยังไม่มีเครื่องแกะ CNC ดังนั้นเส้นสายรายละเอียดของจุดต่างๆจะไม่เหมือนกันเลยสักจุด แม้แต่ตัวหนังสือตัวเดียวกันที่อยู่คนละตำแหน่งก็ยังไม่เหมือนกัน100% ถึงแม้นลายเส้นด้านซ้ายอาจโค้งมากกว่าด้านขวา แต่จะงดงามเป็นงานศิลปะที่กลมกลืนลงตัว และหลุมบนพื้นผิวพระองค์จริงนั้นมักจะเกิดได้น้อยมาก เพราะในแม่พิมพ์จะเป็นจุดเป็นตุ่มนูนสูงที่ช่างแกะจะเห็นชัดและแต่งออกได้ง่ายที่สุด แต่หากเป็นเส้นนูนเช่นยันต์แตกหรือเส้นขนแมว นั่นหมายถึงร่องลึกในแม่พิมพ์ที่แกะพลาด ลบออกหรือแต่งกลับให้เสมอพื้นผิวได้ยาก

4.            ความตึงผิวและความแน่นตัวในเนื้อหาของพื้นผนังรอบๆองค์พระ และพื้นผิวด้านหลัง จะไม่แน่นตัวหรือราบเรียบเสมอกันทุกองค์ เพราะน้ำหนักการกดด้วยมือคนจะไม่เท่ากันในแต่ละครั้ง และยังมีกรณีเนื้อหามวลสารที่ใส่ลงไปในแม่พิมพ์ก็ไม่เท่ากันในแต่ละครั้ง และที่สำคัญหากเป็นพระผงที่ไม่ผสมกาวเป็นตัวประสานเนื้อ การแน่นตัวแบบเรียบแข็งกระด้างทั้งองค์พระจะต้องไม่มีเลย ลายเส้นส่วนนูนต่างๆด้านหน้า ที่หากเป็นพระแท้จากแม่พิมพ์ดั้งเดิมที่ไม่ใช่การถอดพิมพ์มาอีกทอดหนึ่ง จะมีรูปแบบของมิติต่างๆทั้งในส่วนเว้า นูนลึก หรือคดโค้งที่เป็นแบบชัดลึก ไม่ใช่แบบชัดตื้นหรือแข็งกระด้าง และลายเส้นยันต์ด้านหลังก็จะไม่แน่นตัวเสมอเท่ากันทุกองค์ เมื่อมองอย่างพิจารณาด้วยตา ก็คงพอจะบอกได้แล้วว่า แบบไหนมันนุ่มตาหรือแบบไหนแข็งกระด้าง
หนุ่มเมืองแกลง, 27 มีนาคม 2016
5.            พระเนื้อผงที่มีอายุกว่า 40 ปีแล้ว ต้องมีการหดตัวของมวลสารที่แตกต่างกัน ส่วนใดที่มีแรงกดแน่นตัวมากกว่าเช่นด้านหน้าหรือส่วนนูน ก็จะหดยุบตัวน้อยกว่าในส่วนที่เป็นสันขอบด้านข้าง เราจะมองเห็นชัดว่าตามขอบ ตามผิวพระจะเกิดการยุบ ย่น ยับ แยก ด้วยธรรมชาติของอินทรีย์วัตถุที่จะหดตัวหรือย่อยสลายแตกต่างกัน แต่หากเป็นพระผงที่สร้างด้วยการผสมกาว จะไม่เกิดการหดตัว จะมีเพียงการแยกตัวของพื้นผิวเมื่อถูกความร้อน เพราะเนื้อกาวจะไปเปลี่ยนโครงสร้างมวลสารของเนื้อพระไปแล้ว ผงปูนที่เป็นส่วนผสมหลักในการสร้างพระขุนแผนคือปูนขาว เป็นปูนสุกหรือปูนที่เผาแล้วจนโมเลกุลถูกเผาจนกลายเป็นแคลเซียมออกไซด์ เมื่อละลายน้ำหรือโดนน้ำจะเป็นแคลเซียมไฮดร็อกไซด์ หรือภาษาไทยเรียกน้ำปูนใส และเมื่อทำปฏิกิริยากับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ บางส่วนจะเกิดปฏิกริยาเป็นฝ้าขาว บางส่วนจะตกตะกอนเป็นแคลเซียมไบคาร์บอเนต หรือภาษาไทยเรียกว่าตะกรัน หากเป็นพระเครื่องยุคเก่าเป็นร้อยๆปีเช่นพระสมเด็จ มักใช้ปูนดิบ(ปูนที่ยังไม่ได้เผา หรือเผาแล้วแต่ยังไม่ถึงระดับทำลายโครงสร้างโมเลกุลของปูน ยังเป็นแคลเซียมคาร์บอเนตอยู่) มาบดเป็นเนื้อมวลสารหลัก ซึ่งปูนดิบจะละลายน้ำได้น้อย เมื่อเวลาผ่านไปนานๆจะตกผลึกเป็นแร่ที่เรียกว่าแคลไซท์สีขาวใส ลักษณะแบบเดียวกับผลึกหินอ่อน มีความแข็งทนทานต่อการกร่อนยุ่ยสลายตามธรรมชาติแต่ไม่ทนการกัดกร่อนของกรด ข้อมูลตรงนี้ก็สามารถใช้พิสูจน์พระยุคเก่าที่ใช้ปูนดิบสร้างได้อีกระดับหนึ่ง

โดยในเนื้อธรรมชาติที่ไม่ผสมกาวของพระเนื้อผงจากปูนขาวที่มีอายุเกิน 20 ปีไปแล้ว จะมีการย่อยสลายตัวและงอกออกมาเป็นผงแป้งจากผงปูนที่เป็นมวลสารของเนื้อพระด้านใน และจะพองตัวเป็นฝุ่นแป้งยุ่ยๆ แบบขนมโก๋หรือผงแป้งที่ผุกร่อนหรือยุ่ยแตกหักได้ง่าย (เป็นวิชาการธรณีวิทยาเบื้องต้น) หากเนื้อพระนั้นใช้น้ำมันตั้งอิ้วผสมเล็กน้อย ก็จะทำให้เนื้อผงปูนเมื่อแห้งตัวแล้ว จะนุ่ม ไม่ปริแตกหรือหักง่ายเฉพาะในช่วงต้นๆไม่เกิน 10 ปี แต่นานๆไปเมื่อเนื้อพระแห้งมากขึ้น น้ำมันตั้งอิ้วจะกลั่นตัว ซึมงอกออกมาที่ผิว ตามรอยปริแตก หรือถ้าพระเนื้อแก่ผงปูนมากหน่อย ก็จะไหลแทรกซึมขึ้นมาที่ผิวส่วนบน เป็นคราบเหลืองๆ ยิ่งถ้าเนื้อพระโดนไอร้อนจากตัวบ่อยๆก็จะทำให้พระที่ใช้นานๆดูฉ่ำ แต่หากเป็นพระที่ไม่ได้ใช้ ก็จะดูนุ่มนวลตา เพราะเนื้อปูนจะทำปฏิกริยาออกมาคลุมผิวตามกลไกของความชื้นในอากาศตามธรรมชาติ จนอาจดูเหี่ยวย่นยุบแยกแบบเป็นธรรมชาติชัดเจน ลองมาคิดกันดูซิว่า...เมื่อในเนื้อพระมีความชื้นขณะกดพิมพ์ แล้วทำไมพระผงบางองค์ถึงไม่มีรอยประทุบนพื้นผิว ไม่มีรอยยุบ ไม่มีตามดที่เป็นรูระบายอากาศตามธรรมชาติ แม้แต่บรอนซ์ที่ทาผิวไว้ก็มีระยะเวลานานเป็น40ปี โดยทาพร้อมๆกับการกดพระไว้แล้ว แต่ทำไมยังเรียบกริ๊บสนิทแน่นผิวจนมองไม่เห็นรอยถลอก รอยหลุดล่อนตัวจากพื้นผิวบ้างเลย อย่าลืมว่านี่คือพระเนื้อผงที่กดเป็นองค์พระด้วยแรงจากมือคน

6.            สีของบรอนซ์ จะต้องไม่เก่าดำด่างแบบแต่งสีให้เก่า และไม่สว่างสดจนสะท้อนแสงแดด ต้องเก่าคร่ำเป็นไปตามยุคสมัยเมื่อก่อนนั้น หากเป็นการทาก็จะต้องมีลักษณะของเนื้อบรอนซ์ที่ฉาบเคลือบลงบนผิวพระหน้า-หลัง แต่ไม่ทั้งองค์ จะต้องมีเว้นส่วนที่จับถือบ้างในส่วนใดส่วนหนึ่ง หากเป็นการชุบบรอนซ์ก็จะมีลักษณะเคลือบทั้งส่วนที่จุ่มลงในเนื้อบรอนซ์และเมื่อพื้นผิวมีส่วนนูนส่วนเว้า จึงทำให้สีของบรอนซ์ที่หากใช้วิธีจุ่มเคลือบจะมีความหนาแตกต่างกันในร่องลึกซอกมุม มีคนลองใช้เครื่อง XRF แสกนอย่างละเอียดเพื่อหาส่วนประกอบของสารโลหะหนักเบาบนพื้นผิวของพระขุนแผนที่ทาบรอนซ์บางองค์แล้ว จะพบสารประกอบบางอย่างที่เพิ่งมีการค้นพบและนำมาใช้ในวงการอุตสาหกรรมเมื่อไม่ถึง 25 ปีมานี้เท่านั้น ความหมายมีอยู่ในตัวเองชัดเจนแล้ว บางรายเขาเชื่อในเทคโนโลยีแบบนี้ เขาถึงคืนพระกันก็มีมาแล้ว (บางคนเข้าใจผิดว่า ต้องตรวจคาร์บอน14 ) แต่หากหากเราดูด้วยตาแล้ว หากมีอะไรที่มันยังขัดกับความรู้สึกในใจ ก็ไม่ต้องฝืนใจหลอกตัวเอง เข้าใจดีว่าพระในครอบครองของใคร ก็อยากได้ยินว่าเป็นของแท้ทั้งสิ้น แต่จะมีประโยชน์อันใด หากข้อเท็จจริงมันยังไม่ใช่ของแท้

7.            พระขุนแผนผงพรายที่มีหลายสีของท่าน ทั้งแดง(ว่านสบู่เลือด) เขียว(ว่านสีเขียว) ส้ม(ว่านดอกทอง) ซึ่งตามตำราบอกไว้ว่าเป็นเนื้อผงผสมว่านพิเศษบางอย่างไว้ ดังนั้นจึงไม่ควรจะมีสีเสมอกันทั้งองค์แบบผงสีฝุ่นที่ผสมกับเนื้อผงปูนขาว ซี่งหากเป็นผงสีฝุ่นจะทำให้เห็นชัดว่า มองไปจุดไหนก็สีเดียวกันเสมอทั้งองค์ แต่หากเป็นเนื้อผงผสมน้ำว่าน และกดพิมพ์จากด้านหลังไปด้านหน้า(คว่ำหน้าลง) จะต้องให้สีเข้มกว่าที่ด้านหน้า และตรงส่วนที่เป็นจุดนูน ลองพิจารณาตามด้วยจินตนาการของคนมองวิเคราะห์ให้เห็นสภาพความเป็นจริงในการทำงานดังนี้ ...เนื้อพระที่เตรียมจะกดลงในแม่พิมพ์นั้นจะต้องใช้กดลงบล๊อคขณะยังชื้นและเนื้อผงยังอ่อนตัว เพราะยังมีไอน้ำในก้อนมวลสาร เมื่อเป็นเนื้อผสมน้ำว่านที่มาจากพืชที่ให้น้ำว่านสีต่างๆ หากถูกกดบีบด้วยแรงกดเค้นมากกว่าปกติ ก็จะต้องเกิดน้ำว่านไหลซึมไปที่ด้านล่างสุดของการกดลงในแม่พิมพ์ คือส่วนที่นูนที่สุดหรือด้านหน้าองค์พระ ส่วนที่เป็นด้านหลังมักจะต้องมีสีอ่อนกว่าเล็กน้อย และจะต้องไม่มีโทนสีเสมอกันทั้งองค์ หากพระเนื้อผสมน้ำว่านองค์ใดเขียวปี๋เสมอกันทั้งองค์ตลอดหน้าหลัง หรือดำหรือแดงเสมอกันไปเลย ก็ต้องถามใจตัวเองดูว่า ยังสนิทใจไหมกับธรรมชาติแบบนั้น หากเป็นพระเนื้อขาวก็ต้องไม่มีโทนสีเดียวกันทั้งองค์ เพราะตำราสร้างก็ระบุไว้ว่ามีการผสมผงต่างๆ ใส่มวลสารชนิดต่างๆลงไปด้วย ต้องไม่ขาวซีดหรือสีเดียวกันทั้งองค์ ต้องมีจุดแตกต่าง มีส่วนที่แสดงให้เห็นว่าเนื้อในต้องมีหลายอย่างผสมกันอยู่ ลองคิดกันในมุมของความเป็นจริงตามขั้นตอนและวิธีการที่เป็นเรื่องเข้าใจได้ง่ายๆ

8.            เนื้อที่ล้นเกินขอบด้านข้างของพระ (ไม่ใช่เส้นบังคับขอบพิมพ์) จะต้องมีปลิ้นในด้านหลังแทบทุกองค์ และจะต้องไม่เกินออกมาเท่ากันในแต่ละองค์ เพราะความเหลวข้นของมวลสารและจำนวนเนื้อหาที่ใช้กดลงในแม่พิมพ์แต่ละครั้งจะแตกต่างกัน แรงกดของคนก็แตกต่างกัน เนื้อที่ปลิ้นออกจากแม่พิมพ์ด้านหลังจึงต้องไม่เท่ากันเลย (หากเป็นพระผงที่กดคว่ำลงด้วยแม่พิมพ์สองชิ้น จะต้องมีเนื้อล้นเฉพาะด้านหลังเท่านั้น พระที่ตัดขอบด้วยมือก็จะมีลักษณะต่างกันไป) ต้องเหลือล้นเกินออกมาเป็นธรรมชาติแบบมากบ้างน้อยบ้าง ไม่เจตนาทำเกินจนดูสวยงาม ไม่ใช่ดูมาสิบองค์แล้วก็จะพบว่ามีเนื้อเกินด้านข้างขอบยาวเสมอทุกขอบและเรียวคมเหมือนกันทุกองค์ โครงกรอบแม่พิมพ์ก็เป็นส่วนสำคัญที่ใช้พิจารณาได้ทันที เพราะหากพระที่ใช้แม่พิมพ์เดียวกัน จะต้องมีโครงกรอบที่รูปทรงเดียวกัน แม้บางองค์จะบิดเบี้ยวแตกต่างในรายละเอียดบ้าง ก็จะมาจากการบิดตัว การหยิบจับหรือแรงกดหนักเบาไปด้านใดด้านหนึ่ง


9.            ในองค์ที่เป็นพระเนื้อผงของหลวงปู่ทิม แต่มีเปลือกผิวสองชั้นแบบพระชุดฝังกรุของหลวงปู่ทิม ถือว่าเป็นพระที่มีจุดพิจารณาประกอบที่ดีและทำให้ดูง่าย เมื่อครั้งที่มีการหาผู้รับจ้างสร้างพระชุดลงกรุนี้มาจากนครสวรรค์ ลป.ทิมเป็นผู้แนะนำวิธีสร้างแบบพิเศษเฉพาะของท่านและถือเป็นข้อตกลงที่ต้องทำให้ได้แบบนี้ โดยท่านคงมีเจตนาทำพระผงที่จะฝังกรุไว้พิเศษกว่าพระอื่นๆ เพราะท่านคงรู้ดีว่าปัญหาจะมีมากมายเมื่อท่านละสังขารไปแล้ว เรื่องกรรมวิธีการทำและข้อควรฉุกคิดจะยังไม่ขยายความในเรื่องนี้ แต่ทุกท่านสามารถหาภาพพระชุดลงกรุของวัดละหารไร่มาดูกันได้ พระที่สร้างลงกรุไว้ไม่กี่ปี แต่ทำไมมีเปลือกหรือคราบบนผิวสองชั้นชัดเจน ยังไม่ใช่พระที่ลงกรุเป็นร้อยปีด้วยซ้ำไป โดยพระชุดลงกรุในงานผูกพัทธสีมานี้ สร้างปี17 เปิดกรุออกมาในปี26 (อยู่ในกรุเพียง 10 ปี) แล้วท่านเคยสงสัยกันบ้างไหมว่า ทำไมพระถึงมีผิวสองชั้น ?

หนุ่มเมืองแกลง, 27 มีนาคม 2016 

ดูคอลัมน์ * ควบม้า..ชมเมือง *

วันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

พระปิดตา / พระมหากัจจายนะ / พระภควัมบดี - อย่าเข้าใจผิด

อวิชชาของผู้เรียบเรียง
ประมาณซัก 20 กว่าปีที่แล้ว ที่เริ่มสะสมพระเครื่องใหม่ๆ จะมีอคติอยู่มาก เพราะเป็นกบอยู่ในกะลา เมื่อเห็นพระปิดตาครั้งแรก โดยที่ไม่ได้ศึกษาจากครูบาอาจารย์หรือจากตำราใด ก็ด่วนสรุปในใจว่า พระอะไร ไม่โปร่งใส ทำตัวลึกลับ ปิดหูปิดตา โดยหารู้ไม่ว่าเป็นบาปยิ่ง  และไม่กี่วันมานี้ ก็ไปพบคนแบบเดียวกับผู้เรียบเรียง จึงได้อธิบายแถลงไขให้ผู้นั้นได้เข้าใจโดยตลอด เกี่ยวกับพระปิดตา ด้วยมูลเหตุนี้คิดว่าคงมีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อย ที่อาจจะยังไม่ทราบความเป็นมา ก็จึงได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มาเล่าสู่กันฟัง โดยมีจุดประสงค์เพื่อกราบขอขมาพระอรหันต์สังกัจจายนเจ้าด้วยเศียรเกล้า และให้สาธุชนผู้ไม่รู้ ไม่เข้าใจซึ่งอาจจะทำผิดโดยจิตและวาจาล่วงละเมิดพระอรหันต์ ได้มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องที่แจ่มชัดต่อไปครับ...สาธุ

ประวัติ
พระมหากัจจายนะ (บาลี: มหากจฺจายน, สันสกฤต: มหากาตฺยายน) เป็นพระอรหันต์ 1 ใน 80 พระอสีติมหาสาวกในศาสนาของพระโคตมพุทธเจ้า ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางผู้อธิบายความย่อให้พิสดาร
พระมหากัจจายนมีอีกชื่อหนึ่งว่า กัจจานะ (หรือกัจจายนะ) ในญี่ปุ่นรู้จักทั่วไปในชื่อ "คะเซ็นเน็น" (Kasennen) ส่วนในประเทศไทยนอกจากชื่อตามภาษาบาลีแล้ว ยังเป็นที่รู้จักในชื่อ "พระสังกัจจายน์" หรือ "พระสังกระจาย"
พระมหากัจจายนะเกิดในตระกูลพราหมณ์ตระกูลหนึ่งในกรุงอุชเชนี ได้รับการศึกษาในทางไตรเพทเวทมนตร์ตามอย่างตระกูลพราหมณ์ทั้งหลาย ท่านเป็นศิษย์ของอสิตดาบสแห่งเขาวินธัย (ผู้ทำนายว่าเจ้าชายสิทธิตถะจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิหรือพระพุทธเจ้าในอนาคต) พระมหากัจจายนะพร้อมด้วยมิตรอีก 7 คนได้อาราธนาพระพุทธเจ้าให้ทรงแสดงธรรมเทศนา และได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในระหว่างฟังธรรมนั้นเอง หลังจากนั้นท่านจึงทูลขออุปสมบทต่อพระพุทธเจ้า และได้เผยแผ่ศาสนาพุทธอยู่ในแคว้นอวันตีจนมีผู้เข้ามาเป็นสาวกในพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก

พระภควัมบดีได้นั่งสมาธิทางใน โดยใช้มือทั้งสองปิดตา (ปฐมเหตุแห่งการสร้างพระปิดตา)
จนเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าท่านทรงออกเดินทางเพื่อแสดงธรรม ซึ่งในครั้งนั้นมีพระสาวกเป็นจำนวนมากที่พร้อมเดินทางพร้อมกับพระพุทธองค์ ด้วยสถานที่จุดหมายที่จะเดินทางไกลนั้นใช้เวลาหลายพรรษา และประกอบกับต้องผ่านในสถานที่อันตรายต่างๆ
 จนเมื่อถึงสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งมีความแห้งแล้งทุรกันดาร มีบรรดาภูตผีและวิญญาณที่มองไม่เห็นอยู่มากมาย ถึงขนาดเหล่าเทพเทวดาไม่อาจผ่านบริเวณที่แห่งนั้นได้
 ครั้งนั้น พระพุทธองค์ได้เรียกประชุมบรรดาพระสาวกที่ตามเสด็จในครั้งนั้น เพื่อหาทางออกของการเดินทางในครั้งนี้ ซึ่งการประชุมถูกแบ่งออกเป็น ๒ ทางเลือก คือ ๑.ใช้การเดินทางอ้อม ซึ่งจะทำให้ใช้ระยะเวลาหลายเดือน และเกิดความล่าช้ากว่ากำหนด
 ๒.เดินทางต่อโดยใช้เส้นทางเดิม ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีอันตรายตลอดการเดินทาง และมีปัญหาในการดำรงชีวิต
 แต่ในการประชุมครั้งนั้น ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ จนกระทั่งพระพุทธองค์ได้กล่าวสอบถามในการเดินทางครั้งนั้นว่า
 “พระภควัมบดี ได้ติดตามมาในขบวนนี้ด้วยหรือไม่
 บรรดาเหล่าพระสาวกจึงตอบกลับไปว่า ในการเดินทางครั้งนี้ พระภควัมบดี ได้เดินทางมาด้วย  เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบ ก็ทรงพอพระทัยยิ่งนัก และได้ตอบกลับแก่บรรดาพระสาวกที่ติดตามว่า  เราจะเดินทางต่อไป และใช้เส้นทางเดิม ในการเสด็จครั้งนั้นก็ผ่านไปได้ด้วยดี
 ต่อมา เมื่อพระภควัมบดี ได้ทราบถึงเหตุการณ์ของพระพุทธองค์ในการประชุมในครั้งนั้น ท่านได้คิดถึงเหตุผลต่างๆ ว่าเพราะอะไร พระพุทธองค์ถึงถามพระภควัมบดี แล้วมีความเกี่ยวข้องถึงการเดินทางได้อย่างไร
 พระภควัมบดีได้นั่งสมาธิทางใน โดยใช้มือทั้งสองปิดตา เพื่อหาสาเหตุ จนกระทั่งพบว่า ในอดีตชาติ ท่านได้เกิดเป็นชายผู้หนึ่ง ที่มีความรู้แตกฉานในการรักษาโรคต่างๆ และเป็นผู้เสียสละในการรักษาผู้ป่วย ไม่ยึดติดเงินทอง ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ชาตินี้มีแต่ผู้รักใคร่ มีปัญญาที่เฉียบแหลม และมีผู้ที่คอยปกปักรักษาคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง
 ด้วยสาเหตุที่พระภควัมบดีได้นั่งสมาธิทางใน จึงเป็นที่มาของ "ปางเข้านิโรธสมาบัติ" หรือ "พระปิดตา" ที่เห็นในปัจจุบัน  โบราณจารย์จึงได้จำลองลักษณะแห่งพระภควัมบดีในรูปพระเครื่องศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นเอกลักษณ์ไว้ ๓ ประเภท เพื่อแสดงความหมายถึงพระภควัมปติ อันเป็นผู้มีความละม้ายเหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้านั่นเอง


  • พระปิดทวารทั้ง ๙ อันเป็นการปิดกั้นอาสวะกิเลสแห่งทวารเข้าออกทั้ง ๙ ของร่างกาย
  • พระสังกัจจายน์ อันเป็นที่รักใคร่นิยมยินดี เต็มไปด้วยลาภสักการะสรรเสริญ
  • พระปิดตามหาอุตม์ อันเป็นการป้องกันสรรพภยันตรายทั้งหลายทั้งปวง
ความเป็นจริงพระปิดตา ที่มีมือคู่เดียวยกขึ้นมาปิดที่ใบหน้า และพระปิดทวารทั้ง 9 นั้นก็หมายถึงพระภควัมปติหรือพระภควัมบดี เช่นเดียวกัน และพระมหาสังกัจจายน์ ก็คือพระอรหันต์องค์เดียวกันนั่นเองครับ ตามประวัติว่ากันว่าพระมหาสังกัจจายน์นั้นมีรูปร่างงดงาม และได้รับคำชมจากพระบรมศาสดาว่า พระมหาสังกัจจายน์นั้นเป็นเอตทัคคะ และฉลาดล้ำเลิศในการอธิบายความแห่งคำที่ย่อได้อย่างพิสดาร ด้วยความฉลาดล้ำเลิศของพระมหาสังกัจจายน์นั่นเอง

ทำไมพระสังกัจจายน เตี้ย-ท้องพลุ้ย ไม่เป็นที่น่าดู
พระมหาสังกัจจายน์ท่านเป็นผู้ที่มีผิวพรรณวรรณะงดงาม ตามพระบาลีว่า สุวณฺโณจวณฺณํ คือมีผิวเหลืองดังทองคำ เป็นที่เสน่ห์นิยม มิว่าท่านจะไปในสถานที่แห่งใด เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายต่างก็พากันสรรเสริญว่า ท่านคือ พระบรมศาสดาเสด็จมาแล้ว เพราะเหตุที่ท่านมีรูปโฉมละม้ายเหมือนพระศาสดานั่นเอง ท่านจึงได้รับสมญานามอีกชื่อหนึ่งว่า พระภควัมปติ ซึ่งมีความหมายทำนองว่า ผู้มีความงามละม้ายเหมือน พระผู้มีพระภาคเจ้านั่นเอง
เมื่อเหตุการณ์เป็นไปดังนี้ ท่านจึงมาคิดว่า การที่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายพากันสรรเสริญท่านดังนี้ เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง สุดท้ายท่านจึงกระทำด้วยอิทธิฤทธิ์ เนรมิตกายให้เตี้ยลงจึงดูท้องพลุ้ย ไม่เป็นที่น่าดู เทพยดาและมนุษย์จะได้ไม่เกิดความเข้าใจผิดอีกต่อไป

ส่วนที่มีการทำรูปเคารพเป็นรูปปิดทวารทั้ง 9 นั้น ก็คือมือคู่หนึ่งปิดหน้า คือปิดตา 2 ข้างปิดจมูก 2 ปิดปาก 1 และมีมืออีกคู่หนึ่งมาปิดที่หู 2 ข้าง ส่วนอีกมือคู่หนึ่งนั้นปิดที่ทวารทั้ง 2 รวมเป็นปิดทวารทั้งเก้า คือเป็นอุปเท่ห์หมายถึง ตอนที่พระภควัมปติท่านกำลังเข้านิโรธสมบัติ ทวารทั้งเก้าก็จะปิดสนิท ไม่ยินดียินร้ายกับกิเลสทั้งหลาย หมายถึงดับสนิท อาสวะกิเลสต่างๆ ไม่อาจที่จะเข้ามาแผ้วพานได้เลย

วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ความสำคัญพระอภิธรรม 7 คัมภีร์

อ่านบทความอื่นๆ : ควบม้า..ชมเมือง
ใช้พระอภิธรรมคัมภีร์ 7 บทสวดพระอภิธรรมในงานบำเพ็ญศพทั่วๆ  ไปตั้งเจ้านายใหญ่ถึงชาวบ้าน....ตามตำนานพระพุทธเจ้ายกขึ้นมาแสดงแก่พุทธมารดาฟังที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์พร้อมเหล่าเทวดา โดยพระอภิธรรมคัมภีร์ที่ใช้สวด เป็นบทสวดพระอภิธรรมมี 7 บท (7 คัมภีร์) คือ

ที่มาวิดีโอ : https://www.youtube.com/channel/UC-5K7aT7k7PLdG3UPUUQJzA

1.พระสังคิณี ว่าด้วยเรื่องธรรมที่เป็นกุศล กับ อกุศล
2.พระวิภังค์ ว่าด้วยเรื่องขันธ์ 5
3.พระธาตุกถา ว่าด้วยเรื่องการสงเคราะห์ธรรม
4.พระปุคคะละปัญญัติ ว่าด้วยที่ตั้งของบุคคล
5.พระกถาวัตถุ ว่าด้วยความจริงแท้
6.พระยะมะกะ ว่าด้วยธรรมที่เป็นคู่
7.พระมหาปัฏฐาน ว่าด้วยที่ตั้งใหญ่

โดยในครั้งพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งเสด็จไปโปรดพุทธมารดา ได้ยกพระอภิธรรม 7 คัมภีร์เพื่อตอบแทนพระคุณของมารดา จึงเลือกธรรมะแสดงแก่พุทธมารดาฟังที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะเป็นสวรรค์ชั้นกลางๆ เทวดาชั้นต่ำก็สามารถขึ้นไปฟังได้ ชั้นที่สูงกว่าก็ลงมาฟังได้ ทำให้เหล่าเทวดาทั้งหลายได้บรรลุธรรมพร้อมกัน มีพระโสดาบันเป็นเบื้องต่ำ และอนาคามีเป็นเบื้องสูง พุทธมารดาทรงจุติที่สวรรค์ชั้นดุสิต เป็นสวรรค์ชั้นสูงกว่าดาวดึงส์ ใช้เวลาในการแสดง 3 เดือน (1 พรรษา) ปัจจุบันพระสงฆ์จึงใช้ธรรมะหมวดอภิธรรมเป็นบทสวดเนื่องในการสวดอภิธรรมศพ
สำหรับบทแปลพระอภิธรรมจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย จัดทำโดยพระมหาพรชัย กุสลจิตโต วัดราชสิทธาราม บางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ มีดังนี้


1.พระสังคิณี
กุสะลา ธัมมา ธรรมที่เป็นกุศลให้ผลเป็นสุข มากามาวจรกุศลเป็นต้น
อกุสะลา ธัมมา ธรรมที่เป็นอกุศลให้ผลเป็นทุกข์ มีโลภมูลจิตแปดเป็นต้น
อัพยากะตา ธัมมา ธรรมที่เป็นอัพยากฤตเป็นจิตกลางๆ มีอยู่ มีผัสสะเจตนาเป็นต้น
กะตะเม ธัมมา กุสะลา ยัสมัง สะมะเย ในสมัยใด ธรรมที่เป็นกุศลให้ผลเป็นสุขย่อมบังเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง
กามาวะจะรัง กุสะลัง จิตตัง จิตที่เป็นกุศลให้ผลเป็นสุข ย่อมนำสัตว์ให้ไปเกิดในกามภพทั้งเจ็ด คือมนุษย์ 1 สวรรค์ 6
อุปปันนัง โหติ ย่อมบังเกิดมีแก่ปุถุชนผู้เป็นสามัญชน
โสมะนัสสะสะหะคะตัง เป็นไปพร้อมกับจิตด้วย ที่เป็นโสมนัสความสุขใจ
ญาณะสัมปะยุตตัง ประกอบพร้อมด้วยญาณเครื่องรู้คือปัญญา
รูปารัมมะณัง วา มีจิตยินดีในรูป มีรูปพระพุทธเจ้าเป็นต้น เป็นอารมณ์บ้าง
สัทธารัมมะณัง วา มีจิตยินดีในเสียง มีเสียงท่านแสดงพระสัทธรรมเป็นต้น เป็นอารมณ์บ้าง
คันธารัมมะณัง วา มีจิตยินดีในกลิ่นหอม แล้วคิดถึงการกุศล มีพุทธบูชาเป็นต้น เป็นอารมณ์บ้าง
ระสารัมมะณัง วา มีจิตยินดีในรสเครื่องบริโภค แล้วยินดีใคร่บริจาคเป็นทานเป็นต้น เป็นอารมณ์บ้าง
โผฏฐัพพารัมมะณัง วา มีจิตยินดีในอันถูกต้อง แล้วก็คิดให้ทานเป็นต้น เป็นอารมณ์บ้าง
ธัมมารัมมะณัง วา มีจิตยินดีในที่เจริญพระสัทธรรมกรรมฐาน มีพุทธานุสสติเป็นต้น เป็นอารมณ์บ้าง
ยัง ยัง วา ปะนารัพภะ อีกอย่างหนึ่งความปรารภแห่งจิต ก็เกิดขึ้นในอารมณ์ใดๆ
ตัสมิง สะมะเย ผัสโส โหติ ความกระทบผัสสะแห่งจิต จิตที่เป็นกุศลก็ย่อมบังเกิดขึ้นในสมัยนั้น
อะวิกเขโป โหติ อันว่าเอกัคคตาเจตสิกอันแน่แน่วในสันดานก็ย่อมบังเกิดขึ้น
เย วา ปะนะ ตัสมิง สะมะเย อีกอย่างหนึ่ง ธรรมทั้งหลายเหล่าใด ก็ย่อมบังเกิดขึ้นในกาลสมัยนั้น
อัญเญปิ อัตถิ ปะฏิจจะสะมุปปันนา ธรรมทั้งหลายอาศัยซึ่งจิตทั้งหลายอื่นมีอยู่ แล้วอาศัยกันและกันก็บังเกิดมีขึ้นพร้อม
อะรูปิโน ธัมมา เป็นแต่นามธรรมทั้งหลายไม่มีรูป
อิเม ธัมมา กุสะลา ธรรมทั้งหลายเหล่านี้ ชื่อว่าเป็นกุศลให้ผลเป็นสุข แก่สัตว์ทั้งหลายแล

2.พระวิภังค์
ปัญจักขันธา กองแห่งธรรมชาติทั้งหลายมี 5 ประการ
รูปักขันโธ รูป 28 มีมหาภูติรูป 4 เป็นต้น เป็นกองอันหนึ่ง
เวทะนากขันโธ ความเสวยอารมณ์ เป็นสุขและเป็นทุกข์ เป็นโสมนัสและโทมนัส และอุเบกขา เป็นกองอันหนึ่ง
สัญญากขันโธ ความจำได้หมายรู้ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ อันบังเกิดในจิต เป็นกองอันหนึ่ง
สังขารักขันโธ เจตสิกธรรม 50 ดวง เป็นเครื่องปรุงแต่งจิตให้คิดอ่านไปต่างๆ มีบุญเจตสิกเป็นต้นที่ให้สัตว์บังเกิด เป็นกองอันหนึ่ง
วิญญาณักขันโธ วิญญาณจิต 89 ดวงโดยสังเขป เป็นเครื่องรู้แจ้งวิเศษมีจักขุวิญญาณเป็นต้น เป็นกองอันหนึ่ง
ตัตถะ กะตะโม รูปักขันโธ กองแห่งรูปในปัญจขันธ์ทั้งหลายนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
ยังกิญจิ รูปัง รูปอันใดอันหนึ่ง
อะตีตานาคะตะปัจจุปันนัง รูปที่เป็นอดีตอันก้าวล่วงไปแล้ว และรูปที่เป็นอนาคตอันยังมาไม่ถึง และรูปที่เป็นปัจจุบันอยู่
อัชฌัตตัง วา เป็นรูปภายในหรือ
พะหิทธา วา หรือว่าเป็นรูปภายนอก
โอฬาริกัง วา เป็นรูปอันหยาบหรือ
สุขุมัง วา หรือว่าเป็นรูปอันละเอียดสุขุม
หีนัง วา เป็นรูปอันเลวทรามหรือ
ประณีตัง วา หรือว่าเป็นรูปอันประณีตบรรจง
ยัง ทูเร วา เป็นรูปในที่ไกลหรือ
สันติเก วา หรือว่าเป็นรูปในที่ใกล้
ตะเทกัชฌัง อะภิวัญญูหิตวา พระผู้มีพระภาคทรงประมวลเข้ายิ่งแล้วซึ่งรูปนั้นเป็นหมวดเดียวกัน
อะภิสังขิปิตวา พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่นย่อเข้ายิ่งแล้ว
อะยัง วุจจะติ รูปักขันโธ กองแห่งรูปธรรมอันนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่าเป็นรูปขันธ์ แล

3.พระธาตุกถา
สังคะโห พระพุทธองค์สงเคราะห์ซึ่งเจตสิกรูปเข้าในขันธ์เป็นหมวด 1
อะสังคะโหฯ พระพุทธองค์ไม่สงเคราะห์ซึ่งรูปธรรมทั้งหลายเข้าในขันธ์เป็นหมวด 1
สังคะหิเตนะ อะสังคะหิตัง พระพุทธองค์ไม่สงเคราะห์ซึ่งเจตสิกรูป ด้วยธรรมอันสงเคราะห์แล้ว
อะสังคะหิเตนะ สังคะหิตัง พระพุทธองค์สงเคราะห์ซึ่งเจตสิกรูป ด้วยธรรมอันมิได้สงเคราะห์
สังคะหิเตนะ สังคะหิตัง พระพุทธองค์สงเคราะห์ซึ่งเจตสิกรูป ด้วยธรรมอันสงเคราะห์แล้ว
อะสังคะหิเตนะ อะสังคะหิตังฯ พระพุทธองค์ไม่สงเคราะห์ซึ่งเจตสิกรูป ด้วยธรรมอันมิได้สงเคราะห์
สัมปะโยโค เจตสิกธรรมทั้งหลายอันประกอบพร้อมกับจิต 55
วิปปะโยโคฯ เจตสิกธรรมทั้งหลายอันประกอบแตกต่างกันกับจิต
สัมปะยุตเตนะ วิปปะยุตตัง ประกอบเจตสิกอันต่างกัน ด้วยเจตสิกอันประกอบพร้อมกันเป็นหมวดเดียว
วิปปะยุตเตนะ สัมปะยุตตัง ประกอบเจตสิกอันบังเกิดพร้อมกัน ด้วยเจตสิกอันต่างกันเป็นหมวดเดียว
อะสังคะหิตังฯ พระพุทธองค์ไม่สงเคราะห์ซึ่งธรรมอันไม่สมควรสงเคราะห์ให้ระคนกัน

4.พระปุคคะละปัญญัติ
ฉะ ปัญญัตติโย ธรรมชาติทั้งหลาย 6 อันบัณฑิตพึงแต่งตั้งบัญญัติไว้
ขันธะปัญญัตติ กองแห่งรูปและนามเป็นธรรมชาติ อันบัณฑิตพึงแต่งตั้งบัญญัติไว้
อายะตะนะปัญญัตติ บ่อเกิดแห่งตัณหา คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันบัณฑิตพึงแต่งตั้งบัญญัติไว้
สัจจะปัญญัตติ ของจริงอย่างประเสริฐ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นธรรมชาติอันบัณฑิตพึงแต่งตั้งบัญญัติไว้
อินทริยะปัญญัตติ อินทรีย์ 22 เป็นธรรมชาติอันบัณฑิตพึงแต่งตั้งบัญญัติไว้
ปุคคะละปัญญัตติ บุคคลที่เป็นธรรมชาติอันบัณฑิตพึงแต่งตั้งบัญญัติไว้
กิตตาวะตา ปุคคะลานัง แห่งบุคคลทั้งหลายนี่มีกี่จำพวกเชียวหนอ
ปุคคะละปัญญัตติ บุคคลที่เป็นธรรมชาติอันบัณฑิตพึงแต่งตั้งบัญญัติไว้
สะมะยะวิมุตโต พระอริยบุคคล ผู้มีจิตพ้นวิเศษเป็นสมัยอยู่ มีพระโสดาบันเป็นต้น
อะสะมะยะวิมุตโต พระอริยบุคคล ผู้มีจิตพ้นวิเศษไม่มีสมัย มีพระอรหันต์เป็นต้น
กุปปะธัมโม ฌานที่เป็นเครื่องฆ่ากิเลส อันบุคคลได้แล้ว ย่อมกำเริบสูงไป
อะกุปปะธัมโม ฌานที่เป็นเครื่องเผากิเลส อันบุคคลได้แล้ว ย่อมไม่กำเริบ
ปะริหานะธัมโม ฌานที่เป็นเครื่องฆ่ากิเลส อันบุคคลได้สูงขึ้นไปแล้ว ย่อมเสื่อมถอยลง
อะปะริหานะธัมโม ฌานที่เป็นเครื่องเผากิเลส อันบุคคลได้สูงขึ้นไปแล้ว ย่อมไม่เสื่อมถอย
เจตะนาภัพโพ ฌานที่เป็นเครื่องฆ่ากิเลส อันบุคคลได้แล้ว ไม่สามารถที่จะรักษาไว้ในสันดาน
อะนุรักขะนาภัพโพ ฌานที่เป็นเครื่องฆ่ากิเลส อันบุคคลได้แล้ว ก็ตามรักษาไว้ในสันดาน
ปุถุชชะโน บุคคลที่มีอาสวะเครื่องย้อมใจ อันหนาแน่นในสันดาน
โคตระภู บุคคลที่เจริญในพระกรรมฐานตลอดขึ้นไปถึงโคตรภู
ภะยูปะระโต บุคคลที่เป็นปุถุชน ย่อมมีความกลัวเป็นเบื้องหน้า
อะภะยูปะระโต พระขีณาสะวะ บุคคลผู้มีความกลัวอันสิ้นแล้ว
ภัพพาคะมะโน บุคคลผู้มีวาสนาอันแรงกล้า สามารถจะได้มรรคและผลในชาตินั้น
อะภัพพาคะมะโน บุคคลผู้มีวาสนาอันน้อย ไม่สามารถจะได้รับมรรคผลในชาตินั้น
นิยะโต บุคคลผู้กระทำซึ่งปัญจอนันตริกรรม มีปิตุฆาตเป็นต้น
อะนิยะโต บุคคลผู้มีคติปฏิสนธิไม่เที่ยง ย่อมเป็นไปตามยถากรรม
ปะฏิปันนะโก บุคคลผู้ปฏิบัติมั่นเหมาะในพระกรรมฐาน เพื่อจะได้พระอริยมรรค
ผะเลฏฐิโต บุคคลผู้ตั้งอยู่ในพระอริยผล มีพระโสดาบันปัตติผลเป็นต้นตามลำดับ
อะระหา บุคคลผู้ตั่งอยู่ในพระอรหัตตผล เป็นผู้ควรแล้ว เป็นผู้ไกลแล้วจากกิเลส
อะระหัตตายะ ปะฏิปันโน บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อจะให้ถึงพระอรหัตตผล เป็นผู้ควรแล้ว เป็นผู้ไกลแล้วจากกิเลสฯ

5.พระกถาวัตถุ
ปุคคะโล มีคำถามว่าสัตว์ว่าบุรุษว่าหญิงว่าชาย
อุปะลัพภะติ อันท่านควรรู้ด้วยปัญญา อันบังเกิดในสันดานของท่านเถิด
สัจฉิกัตถะปะระมัตเถนาติ โดยปรมัตถ์คืออรรถอันอุดม เป็นอรรถอันจริงแท้มิได้แปรผันดังนี้มีอยู่หรือ
อามันตา มีคำแก้ตอบว่าจริง สัตว์บุคคลหญิงชายมีอยู่ฯ
โย มีคำถามว่า ปรมัตถธรรมมีประการ 57 มีขันธ์ 5 เป็นต้นทั้งหลายเหล่าใด
สัจฉิกัตโถ ปะระมัตโถ เป็นปรมัตถ์คืออรรถอันอุดม เป็นอรรถอันจริงแท้มิได้แปรผัน
ตะโต โส โดยปรมัตถธรรมมีประการ 57 มีขันธ์ 5 เหล่านั้น
ปุคคะโล ว่าเป็นสัตว์บุคคลเป็นหญิงเป็นชาย
อุปะลัพภะติ อันท่านควรรู้ด้วยปัญญา อันบังเกิดในสันดานของท่าน
สัจฉิกัตถะปะระมัตเถนาติ โดยปรมัตถ์คืออรรถอันอุดม เป็นอรรถอันจริงแท้มิได้แปรผันดังนี้มีอยู่หรือฯ
นะ เหวัง วัตตัพเพ มีคำแก้ตอบว่า ประเภทของปรมัตถ์มีขันธ์ 5 เป็นต้น เราไม่มีพึงกล่าวเชียวหนอฯ
อาชานาหิ นิคคะหัง ผู้ถามกล่าวตอบว่า ท่านจงรับเสียเถิด ซึ่งถ้อยคำอันท่านกล่าวแล้วผิด
หัญจิ ปุคคะโล ผิแลว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นหญิงเป็นชาย
อุปะลัพภะติ อันท่านควรรู้ด้วยปัญญา อันบังเกิดในสันดานของท่าน
สัจฉิกัตถะปะระมัตเถนะ โดยปรมัตถ์คืออรรถอันอุดม เป็นอรรถอันจริงแท้มิได้แปรผัน
เตนะ โดยประการอันเรากล่าวแล้วนั้น
วะตะ เร ดังเรากำหนด ดูก่อนท่านผู้มีหน้าอันเจริญ
วัตตัพเพ โย ปรมัตถธรรมมีประการ 57 มีขันธ์ 5 เป็นต้น อันเราพึงกล่าว
สัจฉิกัตโถ ปะระมัตโถ เป็นอรรถอันกระทำในสว่างแจ้งชัด เป็นอรรถอันอุดม
ตะโต โส โดยปรมัตถธรรมมีประการ 57 มีขันธ์ 5 เป็นต้นเหล่านั้น
ปุคคะโล ว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นหญิงเป็นชาย
อุปะลัพภะติ อันท่านควรรู้ด้วยปัญญา อันบังเกิดในสันดานของท่าน
สัจฉิกัตถะปะระมัตเถนาติฯ โดยปรมัตถ์คืออรรถอันอุดม เป็นอรรถจริงแท้มิได้แปรผันดังนี้
มิจฉา ท่านกล่าวในปัญหาเบื้องต้นกับปัญหาเบื้องปลาย ผิดกันไม่ตรงกันฯ
6.พระยะมะกะ
เย เกจิ จิตและเจตสิกบางพวกทั้งหลายเหล่าใด
กุสะลา ธัมมา ธรรมที่เป็นกุศลให้ผลเป็นสุข อันบัณฑิตควรสะสมไว้
สัพเพ เต จิตแลเจตสิกทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น
กุสะลมูลา เป็นมูลเป็นที่ตั้งของรากเหง้าแห่งกุศล ให้ผลเป็นสุข อันบัณฑิตควรสะสมไว้ฯ
เย วา ปะนะ อีกอย่างหนึ่ง จิตและเจตสิกทั้งหลายเหล่านั้น
กุสะลามูลา เป็นมูลเป็นที่ตั้งของรากเหง้าแห่งกุศล ให้ผลเป็นสุข อันบัณฑิตควรสะสมไว้
สัพเพ เต ธัมมา ธรรมคือจิตและเจตสิกทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น
กุสะลา ชื่อว่าเป็นกุศลให้ผลเป็นสุข อันบัณฑิตควรสะสมไว้ฯ
เย เกจิ จิตและเจตสิกบางพวกทั้งหลายเหล่าใด
กุสะลา ธัมมา ธรรมเป็นกุศลให้ผลเป็นสุข อันบัณฑิตควรสะสมไว้
สัพเพ เต จิตและเจตสิกทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น
กุสะละมูลเลนะ เอกะมูลา เป็นมูลอันหนึ่งด้วยเป็นมูลเป็นที่ตั้งแห่งกุศลให้ผลเป็นสุขอันบัณฑิตควรสะสมไว้แล้วฯ
เย วา ปะนะ อีกอย่างหนึ่ง จิตและเจตสิกทั้งหลายเหล่านั้น
กุสะละมูเลนะ เอกะมูลา เป็นมูลอันหนึ่งด้วยเป็นมูลเป็นที่ตั้งห่างกุศลให้ผลเป็นสุขอันบัณฑิตควรสะสมไว้
สัพเพ เต ธัมมา ธรรมคือจิตและเจตสิกทั้งหลายทั้งปวง
กุสะลา ชื่อว่าเป็นกุศลให้ผลเป็นสุข อันบัณฑิตควรสะสมไว้ฯ


7.พระมหาปัฏฐาน
เหตุปัจจะโย ความไม่โลภไม่โกรธไม่หลงเป็นต้น เป็นเครื่องอาศัยเป็นปัจจัยให้เกิดในที่สุข
อารัมมะณะปัจจะโย อารมณ์ความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นเครื่องอาศัยเป็นปัจจัยให้บังเกิด
อะธิปะติปัจจะโย ธรรมที่ชื่อว่าอธิบดี 4 ประการ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เป็นเครื่องอาศัยเป็นปัจจัยให้บังเกิด
อะนันตะระปัจจะโย จิตอันกำหนดในวัตถุและรู้แจ้งวิเศษในทวารทั้ง 6 เนื่องกันไม่มีระหว่าง เป็นเครื่องอาศัยเป็นปัจจัยให้บังเกิด
สะมะนันตะระปัจจะโย จิตอันกำหนดในวัตถุและรู้วิเศษในทวารทั้ง 6 พร้อมกัน ไม่มีระหว่าง เป็นเครื่องอาศัยเป็นปัจจัยให้บังเกิด
สะหะชาตะปัจจะโย จิตและเจตสิกอันบังเกิดกับดับพร้อม เป็นเครื่องอาศัยเป็นปัจจัยให้บังเกิด
อัญญะมัญญะปัจจะโย จิตและเจตสิกค้ำชูซึ่งกันและกัน เป็นเครื่องอาศัยเป็นปัจจัยให้บังเกิด
นิสสะยะปัจจะโย จิตและเจตสิกอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นเครื่องอาศัยเป็นปัจจัยให้บังเกิด
อุปะนิสสะยะปัจจะโย จิตเจตสิกอันเข้าไปใกล้อาศัยซึ่งกันและกัน เป็นเครื่องอาศัยเป็นปัจจัยให้บังเกิด
ปุเรชาตะปัจจะโย อารมณ์ 5 มีรูปเป็นต้นมากระทบซึ่งจักษุ เป็นเครื่องอาศัยเป็นปัจจัยให้บังเกิด
ปัจฉาชาตะปัจจะโย จิตและเจตสิกที่บังเกิดภายหลังรูป เป็นเครื่องอาศัยเป็นปัจจัยให้บังเกิด
อาเสวะนะปัจจะโย ชะวะนะจิตที่แล่นไปส้องเสพซึ่งอารมณ์ต่อกัน เป็นเครื่องอาศัยเป็นปัจจัยให้บังเกิด
กัมมะปัจจะโย บุญบาปอันบุคคลกระทำแล้ว เป็นเครื่องอาศัยเป็นปัจจัยให้บังเกิด ในที่ดีที่ชั่ว
วิปากะปัจจะโย และวิเศษแห่งกรรมอันบุคคลกระทำแล้ว เป็นเครื่องอาศัยเป็นปัจจัยให้บังเกิดในที่ดีที่ชั่ว
อาหาระปัจจะโย อาหาร 4 มีผัสสาหารเป็นต้น เป็นเครื่องอาศัยเป็นปัจจัยให้บังเกิด
อินทริยะปัจจะโย ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ ในตา หู จมูก ลิ้น กายใจ เป็นเครื่องอาศัยเป็นปัจจัยให้บังเกิด
ฌานะปัจจะโย ธรรมชาติเครื่องฆ่ากิเลส เป็นเครื่องอาศัยเป็นปัจจัยให้บังเกิดในรูปพรหม
มัคคะปัจจะโย อัฏฐังคิกะมรรคทั้ง 8 มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น เป็นเครื่องอาศัยเป็นปัจจัยให้บังเกิดในโลกอุดร
สัมปะยุตตะปัจจะโย จิตและเจตสิกอันบังเกิดสัมปยุตพร้อมในอารมณ์เดียวกันเป็นเครื่องอาศัยเป็นปัจจัยให้บังเกิด
วิปปะยุตตะปัจจะโย รูปธรรมนามธรรมที่แยกต่างกัน มิได้ระคนกัน เป็นเครื่องอาศัยเป็นปัจจัยให้บังเกิด
อัตถิปัจจะโย รูปธรรมนามธรรมที่ยังไม่ดับ เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน เป็นเครื่องอาศัยเป็นปัจจัยให้บังเกิด
นัตถิปัจจะโย เจตสิกที่ดับแล้ว เป็นเครื่องอาศัยเป็นปัจจัยให้เกิดจิตและเจตสิกในปัจจุบัน
วิคะตะปัจจะโย จิตและเจตสิกที่แยกต่างกัน เป็นเครื่องอาศัยเป็นปัจจัยให้บังเกิดจิตและเจตสิกในปัจจุบัน

อะวิคะตะปัจจะโยฯ จิตและเจตสิกที่ดับและมิได้ต่างกัน เป็นเครื่องอาศัยเป็นปัจจัยให้บังเกิดจิตและเจตสิกในปัจจุบันฯ.

ไปร่วมฟังงานสวดศพที่ไหน..ถ้ารู้ว่าที่มาที่ไปเป็นอย่างไร...หมายถึงสิ่งไหน..ปรับใช้กับชีวิตได้ดีเพียงใด...ท่านผู้เจริญโปรดพิจารณาครับ
เลขาสมาคมฯ
อ่านบทความอื่นๆ : ควบม้า..ชมเมือง

สารจากนายกสมาคมฯ

*สาเหตุที่ข้าพเจ้าตั้งสมาคมคือ*

         จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาในอดีต เรามีปัญหาหลายด้าน ในสังคมไทย
 จนทำให้เกิดความสับสน /ความเห็นแก่ตัว ของกลุ่ม /ของสังคม /การทำลาย บุคลากร
ทำลายชื่อเสียงของประเท


1.   อนุรักษ์ศาสนวัตถุ อันได้แก่ พระเครื่อง/พระพุทธรูปและโบราณวัตถุ

2.   อนุรักษ์ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม
ในแต่ละท้องถิ่นที่บรรพบุรุษรักษาสืบทอดกันมาเป็นประเพณีปฏิบัติ

3.   เป็นการอนุรักษ์พุทธศิลป์ ในพิมพ์พระเครื่อง
ในแนวทางวิชาการอันนำพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ และประวัติศาสตร์

4.   เป็นการเปิดโอกาสทางเลือกใหม่ ให้กับสังคม

5.   เป็นการชี้นำ ทางสังคมที่ที่ถูกต้อง ที่นำพิสูจน์ได้ทางใดทางวิทยาศาสตร์



*สมาคมมีวัตถุประสงค์*

1.   จัดระเบียบสังคมพระเครื่องให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานสากล

2.   กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ทางพระเครื่อง ได้แก่ศูนย์การเรียนรู้
เพื่อเป็นแนวทางไปสู่ใบประกอบวิชาชีพต่อไป

3.   จัดกิจกรรมประกวดพระ และออกใบรับรองศาสนวัตถุ ที่นำพิสูจน์  ว่าเป็นของแท้

4.   จัดการอบรมให้ความรู้ในจังหวัดต่างๆที่แจ้งความจำนง ในการอบรมให้ความรุ้

5.   เพื่อเป็นการผูกจิตสำนึก ในด้านอนุรักษ์ ศาสนวัตถุ พระเครื่องและพระบูชา

อ.อรรคเดช กฤษณะดิลก
นายกสมาคมอนุรักษ์พระเครื่องพระบูชาไทย





พระสมเด็จแท้ / Genuine Phra Somdej

จำแนกตามพิมพ์และเนื้อหา กราบ พระรัตนตรัย.........บิดามารดาบรรพบุรุษ......ครุฐาอาจารย์ พิมพ์ชาวบ้านและผู้ศรัทธา พิมพ์ช่างหลวง-ยุคปลาย...